top of page

ช้างกับมนุษย์ ตัวเราต่าง แต่ใจนั้นเหมือนกัน



วันที่ 12 สิงหาคมนี้ บอกรักแม่แล้ว อย่าลืมรักช้างกันนะครับ เพราะเป็นวันช้างโลกด้วย

ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทย เราคุ้นเคยกับภาพช้างในสังคมและวัฒนธรรมของเรามาอย่างยาวนาน

ช้างบางเชือกมีความสามารถ ได้รับการฝึกให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ จนถึงให้มีตำแหน่ง มียศ ในสมัยโบราณ


วันนี้เราจะมาดู 6 สิ่งของช้าง ที่บางคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนว่า คล้ายมนุษย์เราอย่างไม่น่าเชื่อเลยนะครับ


ช้างมีครอบครัว

เมื่อช้างเกิดมา นอกจากจะได้รับการดูแลจากพ่อแม่ช้างแล้ว ช้างในโขลงก็ช่วยกันดูแลด้วย

หากลูกช้างร้องหรือมีปัญหา ช้างตัวอื่นก็จะรีบเข้ามาดูแลทันที เปรียบเสมือนญาติพี่น้องกันของมนุษย์

ปกติแล้วช้างมีลูกทีละตัว แต่บางครั้งก็อาจมีฝาแฝดเกิดมาได้เหมือนกัน

เมื่อช้างเริ่มโตเต็มวัย ก็จะต้องออกจากโขลงไปหาเลี้ยงตัวเอง และสร้างโขลงขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง

เหมือนเราตอนจบมหาลัยแล้วไปทำงานมีครอบครัว


ช้างใช้งวงเหมือนมือเรา

สำหรับการหยิบจับสิ่งต่าง ๆ นั้น ช้างใช้งวงแทนได้เหมือนมือของเราเลย

ถึงแม้งวงช้างจะดูน่าจะใช้งานยาก และหนักถึง 200 กิโลกรัม แต่ก็มีกล้ามเนื้ออยู่ถึงแสนจุด ทำให้มันสามารถหยิบจับได้ละเอียดถึงขั้นถอนหญ้าทีละต้นก็ยังได้

เวลาช้างดื่มน้ำ ก็ยังใช้งวงในการดูดน้ำขึ้นมา แล้วป้อนใส่ปากด้วย หรือจะใช้รดตัวคล้ายร้อนก็ได้

นอกจากนั้น ช้างบางตัวก็ถนัดขวา บางตัวก็ถนัดซ้า

โดยใช้งาข้างที่ตัวเองถนัดในการจิ้มอาหาร ฉีกเปลือกไม้ใบไม้ ปกป้องตัวเอง และสู้กับช้างพลาย (ตัวผู้) ตัวอื่น


ช้างมีนิ้วเท้าและมีเล็บด้วย

ช้างมีนิ้วเท้าและมีเล็บอยู่ทุกนิ้วด้วย โดยช้างเอเชียมี 5 นิ้วเท้าหน้า และ 4 นิ้วเท้าหลัง ในขณะที่ช้างแอฟริกันมีน้อยกว่ากันข้างละ 1 นิ้ว

ส่วนเล็บช้างนั้นก็งอกเพิ่มอยู่ตลอดชีวิต เช่นเดียวกันกับงาของมัน

สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างคือ แม้ช้างจะตัวหนักถึง 3-6 ตัน แต่เวลาช้างเดิน ช้างไม่ได้ลงน้ำหนักทั้งเท้า แต่จะใช้รอบ ๆ เท้าเป็นหลัก คือ ก้าวเดินด้วยนิ้วเท้าและจมูกเท้า คล้าย ๆ กับมนุษย์เรา


ช้างรู้จักการดูแลผิว

เมื่อมีเวลาว่างจากการหาอาหาร ช้างจะใช้โคลนเพื่อพอกตัว ซึ่งนอกจากจะทำให้คลายร้อนได้แล้ว ยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิว และทำให้ผิวนุ่มขึ้นด้วย

เรียกว่าความจริงแล้ว ช้างรู้จักการทำสปาผิวมาก่อนมนุษย์เสียอีก

แม้ผิวของช้างอาจจะดูเหี่ยวย่นยิ่งกว่าคนแก่อายุนับร้อยก็จริง แต่มันถูกสร้างมาแบบนั้นเพื่อความสามารถในการเก็บความชื้นไว้ไม่ให้ผิวแห้ง


ช้างทักทายกันเสมอ

เวลาเราพบเจอคนอื่น เราก็ทักทายกันด้วยการจับมือ หรือถ้าเป็นเพื่อนก็อาจโบกมือ แตะบ่า แตะตัว หรือสนิทกันอาจกอดกัน

ช้างก็ทักทายแบบนี้เช่นกัน แค่เปลี่ยนจากมือเป็นงวงแทน ส่วนการกอดช้างใช้การพิงกันหรือใช้หัวสัมผัสกัน

นอกจากนั้นช้างยังรู้จักการจีบกันด้วย โดยเริ่มจากแอบเหล่มองก่อนเป็นอย่างแรก ไปจนถึงการจูบ และสร้างครอบครัวกัน


ช้างห่วงใยกันไม่เคยห่าง

เมื่อช้างตัวหนึ่งล้มป่วย ในโขลงก็จะช่วยกันดูแล หยุดพักไม่เดินทางต่อ จนกว่าช้างตัวนั้นจะหายป่วย

เมื่อมาถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งช้างมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 70 ปี พอ ๆ กันกับเรา แล้วช้างตัวหนึ่งตายลง ช้างตัวอื่นก็จะเศร้ากันหมด อยู่ไว้อาลัยกันเป็นวัน หาดินมาเพื่อคลุมศพ แล้วค่อยจากไปเงียบ ๆ

จากนั้น เมื่อใดก็ตามที่ช้างเดินผ่านจุดที่ช้างในโขลงเคยตาย ก็จะหยุดยืนสงบนิ่งอยู่นานหลายนาที และใช้งวงสัมผัสโครงกระดูกเป็นการไว้อาลัย


ช้างมีความรู้สึกไม่ได้ต่างไปจากเราเลย ทั้งดีใจ มีความสุข เสียใจ เข้าใจ และปลอบโยนกัน

แต่เรากลับทำให้ช้างเสียใจอยู่ฝ่ายเดียวมาตลอด ด้วยการล่า ทำให้จากจำนวนทั้งหมดนับร้อยล้านตัวเมื่อไม่กี่ศตวรรษก่อน ปัจจุบันมีช้างแอฟริกาเหลืออยู่เพียงประมาณ 400,000 ตัวเท่านั้น

สำหรับช้างเอเชียนั้นน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า เพราะเหลือแค่ประมาณ 4 หมื่นตัวในธรรมชาติ นับว่าอยู่ในขั้นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (endangered)

พื้นที่ที่ช้างเอเชียเคยอยู่อาศัยได้ในสมัยก่อนคือสีชมพู ส่วนพื้นที่ในปัจจุบันเหลือแค่สีแดงเท่านั้น

เหตุเกิดจากการฆ่าช้างทั้งตัวเพียงเพื่อเอาแค่งา ไปทำเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ราคาแพง

ลูกช้างถูกพรากจากครอบครัวของมันไปโดนเฆี่ยนตีเพื่อให้เชื่อฟัง จะได้ใช้งานหนักต่อไปได้

กลายเป็นสัตว์เลี้ยงของคนรวยบ้าง ถูกฝึกให้แสดงโชว์บ้าง เพื่อความสนุกสนานของคน แต่ฝืนธรรมชาติและจิตใจของช้าง

ช้างหลายตัวกลายเป็นแรงงานลากซุง กลับมาทำลายป่าไม้ของมันเองเหมือนตลกร้าย

การทำลายป่าจำนวนมากนี้เอง ทำให้พื้นที่ป่าที่กว้างพอให้ช้างอยู่อาศัยได้หายไปอย่างน่าตกใจ

เมื่ออยู่ไม่ได้ ลูกช้างเกิดใหม่จึงน้อยลง โขลงก็เล็กลงเรื่อย ๆ เสียจนจำนวนช้างลดลงจนใกล้สูญพันธุ์


หากช้างสูญพันธุ์ไปจะเกิดอะไรขึ้น?


ช้างเป็นสัตว์บกที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลกและอยู่เป็นโขลง จึงสามารถควบคุมระบบนิเวศและเป็นตัวบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้

การกินพืชและถ่ายมูล ช่วยแพร่พันธุ์และกระจายพืชต่าง ๆ ให้มีความหลากหลายและสมดุล

เมื่อช้างเดินไปในป่า ก็ช่วยแหวกให้มีทางเดิน เพื่อสัตว์อื่นจะได้ไปมาหาอาหารได้ง่ายขึ้น

เมื่อถึงหน้าแล้ง เวลาช้างหาแหล่งน้ำ ก็ช่วยสร้างทางน้ำใหม่ ให้สัตว์น้อยใหญ่ได้ดับกระหาย

ตอนช้างหาโป่งดินกิน ซึ่งจำเป็นต่อการเสริมแร่ธาตุ การขุดเจอโป่งใหม่ก็ทำให้สัตว์ตัวอื่นได้อานิสงค์ด้วย


ดังนั้น สุขภาพของช้าง ก็คือสุขภาพของสัตว์ต่าง ๆ สุขภาพของป่า สุขภาพของธรรมชาติ สุขภาพของโลกใบนี้ แน่นอนว่ากระทบมาถึงสุขภาพของมนุษย์ด้วย จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวพวกเราเลย


เราได้ทำอินโฟกราฟิกมาให้เข้าใจง่าย ๆ แล้ว อย่าลืมแชร์ให้แม่และคนใกล้ตัวอ่านกันด้วยนะครับ เพราะเมื่อเรามีความสุขในครอบครัว ช้างก็ควรได้รับความสุขในครอบครัวของมันเช่นกัน


เราเชื่อเสมอว่า

การเปลี่ยนอะไรเพียงเล็กน้อยของเราคนหนึ่ง

-ก็สามารถ-

สร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้



bottom of page