top of page

“หลอด” เล็ก… แต่เรื่องใหญ่!


หลอดพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน เป็นเรื่องใหญ่ได้ยังไง?

จริงอยู่ที่พลาสติกมันก็ไม่ดี แต่ถ้าเราทิ้งให้เป็นที่ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร

ผมลองหาข้อมูลดู น่าตกใจมากครับ

ไม่น่าเชื่อครับว่า โลกเราใช้หลอดกันถึง วันละ 3 พันล้านหลอด!

ลองคำนวณดูครับว่าถ้าเดือนหนึ่งปีหนึ่งจะมากขนาดไหน

จากรายงานสรุปข้อมูลขยะชายหาดปี 2016 จาก 112 ประเทศทั่วโลก ของ The Ocean Conservancy พบว่า

“หลอดพลาสติกเป็นขยะที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 7 และปริมาณที่พบทั้งหมดสามารถเรียงต่อกันได้ 541 เมตร เทียบเท่าอาคาร One World Trade Center”

ที่น่าสนใจสำหรับข้อมูลของประเทศไทยในรายงานฉบับนี้พบว่า

หลอด นับเป็นขยะอันดับ 2 รองจากถุงพลาสติกเลยทีเดียว

หลอดที่เราดูดน้ำกันอยู่เป็นผลผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดในระดับอุตสาหกรรม จึงทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง

ด้วยราคาที่น่าคบหานี้เองทำให้หลอดพลาสติกแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้หลอดเกินความจำเป็น ใช้แป๊บเดียวแล้วทิ้ง ต้องผลิตใหม่ตลอด

โดยหารู้ไม่ว่า หลอด ใช้เวลาย่อยสลายเป็นร้อย ๆ ปี

และที่สำคัญที่สุดเวลามันตกลงไปในน้ำ… ก็ไปต่อทะเล และมหาสมุทร

สัตว์น้ำคิดว่าเป็นอาหาร สุดท้ายก็แบบนี้…

คำถามคือ ถ้าไม่ใช้หลอด แล้วเราจะใช้อะไร?

ดื่มจากแก้วก็ได้นะครับ ดูไม่แย่อะไร

หรือถ้ากลัวแก้วสกปรก จะใช้กระติกน้ำ หรือแก้วส่วนตัวก็ได้

“แล้วถ้าเราจำเป็นต้องใช้หลอดจริง ๆ ล่ะ?”

วันนี้มีทางเลือกมาแนะนำให้ทุกคนลองพก "หลอดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้" ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

  • หลอดแก้ว ทำมาจากแก้วแข็งที่เรียกว่าโบโรซิลิเคต คุณภาพเดียวกับจานชามแก้วเกรดสูง มีความคงทนและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

  • หลอดไม้ไผ่ ไม้ไผ่เป็นพืชโตเร็ว โตตามธรรมชาติ จึงมีความออร์แกนิกด้วย เมื่อนำมาทำหลอดจึงเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ หากดูแลรักษาดี ๆ ล้างและตากให้แห้งหลังการใช้งาน สามารถใช้งานได้หลายปี

  • หลอดโลหะ ที่เริ่มพบเห็นได้บ่อย ทำจากสเตนเลสคุณภาพดี มีความแข็งแรงและทนทานมาก

  • หลอดกระดาษ หลอดชนิดนี้ใช้ได้ครั้งเดียวจึงไม่ดีเท่าหลอดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ อย่างไรก็ตามแม้ยังสร้างขยะอยู่ แต่ส่งผลกระทบน้อยกว่าหลอดพลาสติกมากแน่นอน

  • หลอดฟาง ภาษาอังกฤษเรียก ฟาง ว่า straw เหมือนคำว่า หลอด เพราะเป็นต้นฉบับหลอดในยุคแรก ๆ ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ปัจจุบันมีการนำมาพัฒนาคุณภาพ ให้สัมผัสการดื่มดี เหมาะให้เราหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น

  • หลอดจากก้านไรย์ (rye) เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและเป็นทางเลือกใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ทำมาจากต้นไรย์ที่ปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี หลอดชนิดนี้ย่อยสลายได้ 100%

  • หลอดเส้นพาสต้า ลองมองหาเส้นพาสต้าทีมีรู เช่น Bucatini หรือ Perciatelli นำมาทำเป็นหลอด ก็จะไม่สร้างขยะ เพราะสามารถนำไปประกอบอาหารต่อได้

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงกำลังคิดว่า แล้วจะทำความสะอาดยังไง?

ส่วนมาก ก็จะแถมแปรงที่ทำความสะอาดมาให้ด้วยครับ โค้งงอสะดวก ล้างไม่ยากเลย

เพื่อโลกแค่นี้ทำได้สบาย ๆ ลองไปหาซื้อมาใช้กันดูครับ

ช่วงแรกหลายคนอาจจะยังไม่ชิน ลืมพกออกไปทำงานบ้าง แต่ถ้าพกให้เป็นนิสัยแล้ว ก็จะชินและได้อีกอารมณ์นึง เช่นหลอดสเตนเลส ดูดเครื่องดื่มเย็นนี่สดชื่นดีนะครับ

อย่างน้อยผมว่าหลายคนที่เห็นคุณพกหลอดส่วนตัว ก็คงจะฉุกคิดอะไรขึ้นมาบ้าง

ไม่สายเกินที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเรา สู่คนรอบข้าง และค่อย ๆ ขยายวงกว้างมากขึ้น

 

วันนี้ คุณยังใช้หลอดพลาสติกอยู่หรือเปล่า?

“ONE SMALL CHANGE -can make- ONE BIG DIFFERENCE

“การเปลี่ยนอะไรเพียงเล็กน้อยของเราคนหนึ่ง ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้”

ACTs Of Green

Source (Data):

bottom of page