top of page

EARTH DAY 2019 — Protect Our Species



Earth Day ปีนี้พูดถึงเรื่องของ “การปกป้องสายพันธุ์


ทำไมถึงต้องปกป้อง?


ชีวิตทุกชีวิต ระบบนิเวศทุกระบบ ต้องพึ่งพาอาศัยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่บนดิน ทะเล หรืออากาศ และหากระบบหนึ่งล้มเหลว อีกระบบก็จะล้มตามไปด้วย

เราไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ถ้าไม่มีต้นไม้ใบหญ้า ไม่มีแหล่งน้ำ หรือทะเลเสื่อมโทรม

สัตว์ต่าง ๆ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ดำเนินต่อไปได้ เพราะมีความสมดุลด้วยกฎจากธรรมชาติ

แต่ถ้าเราทำให้เกิดความไม่สมดุลขึ้น สภาพแวดล้อมนั้นก็จะมีปัญหา และอาจถึงขั้นสิ้นสุดลงได้

ทว่ามันจะไม่จบอยู่เพียงแห่งนั้น แต่จะต่อเนื่องไปถึงสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ซึ่งจะล้มเหลวลงเหมือนโดมิโน่

เพราะว่า “ในธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดอยู่ได้โดยลำพัง” เราทั้งหมดจึงต้องการกันและกันเพื่อมีชีวิตรอดบนโลกใบนี้


ในยุคของมนุษย์ มีการสูญพันธุ์มากที่สุดในรอบ 60 ล้านปี (หรือตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะอุกกาบาต)

วันนี้เราจึงรวบรวม 10 ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจ ซึ่งมนุษย์ได้ทำลงไปกับสิ่งมีชีวิตบนโลกในช่วงที่ผ่านมา


1. ปกติสัตว์ 1-5 สายพันธุ์ จะสูญพันธุ์ทุก ๆ ปี แต่ตอนนี้กลายเป็น 1-5 สายพันธุ์ ทุก ๆ วันแล้ว


บางสายพันธุ์อาจสญสิ้นไปเสียก่อนที่เราจะค้นพบมันและประโยชน์ของมันเสียอีก

ไม่ว่าจะด้วยน้ำมือของมนุษย์ที่ล่าพวกมันจนสูญพันธุ์ หรือด้วยทางอ้อมที่เราทำลายสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง



2. แมลงมีจำนวนลดลงถึง 75% แค่ 3 ทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น

หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว มีจำนวนแมลงลดลงอย่างน่าตกใจมาก

สภาพผืนป่าที่เล็กลง หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยการขยายเมือง การสร้างโรงงานต่าง ๆ ในป่าเขา และการรุนรานถิ่นที่อยู่อาศัยของแมลง จะเกิดปัญหาใหญ่ต่อป่าไม้ได้ เพราะพืชราว 80% ต้องการแมลงในการช่วยผสมเกสรดอกไม้ ทำให้ดินร่วน หรือขยายพันธุ์พืช

ยิ่งกว่านั้น บรรดานกกินแมลงทั้งหลายก็จะขาดแคลนอาหาร กระทบกันเป็นทอดต่อไปด้วย



3. สัตว์ป่าจำนวนครึ่งหนึ่งบนโลกสูญพันธุ์ไปแล้วเนื่องจากถูกมนุษย์ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย



ป่าไม้ ทั้งป่าดิบชื้น ป่าฝนเขตร้อน ป่าเบญจพรรณ ไปจนถึงป่าชายเลน ภูเขา และทะเล ถูกมนุษย์ทำลายมาหมดแล้วทั้งสิ้น ด้วยพื้นที่ป่าที่ลดลงเรื่อย ๆ จึงทำให้มนุษย์เราทำสัตว์ป่าสูญพันธุ์ไปมากถึงครึ่งหนึ่ง

อาหาร พืชพันธุ์ สมุนไพร และพื้นที่ช่วยฟอกออกซิเจน ก็หายไปด้วยเช่นกัน



4. สัตว์ตระกูลลิงกว่า 60% กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์


แม้แต่สัตว์ที่ใกล้เคียงเรามากที่สุดก็เกิดปัญหาเช่นกัน

โดย 60% กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากการตัดไม้ทำลายป่า และการล่าชิ้นส่วนอวัยวะ หรือจับไปแสดงโชว์ ซึ่งทำให้จำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา



5. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลถูกล่ามากกว่า 650,000 ตัวต่อปี



สัตว์ตระกูลวาฬ แมวน้ำ พะยูน นาคทะเล หมีขั้วโลก ถูกล่าในจำนวนที่น่าตกใจทุกปี แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองก็ตาม และที่น่าเศร้าคือ แม้จะไม่ได้ล่า แต่ขยะที่อยู่ในทะเลของเราและอุปกรณ์การประมงที่ดีไซน์ขึ้นมาไม่ดีหรือใช้งานโดยไม่มีการควบคุมก็ทำร้ายพวกมันอยู่ดี



6. การประมงทั่วโลกส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการมีชีวิตของวาฬและโลมา



ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผลการศึกษาพบว่า ประมาณ 70% ของวาฬ โลมา และสิงโตทะเลชนิดต่าง ๆ ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะทางตรงจากอุปกรณ์และการรบกวนการหาอาหารของมัน หรือทางอ้อมจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นและสภาพน้ำทะเล



7. นก 40% มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง และ 1 ใน 8 ชนิด กำลังจะสูญสิ้นไปจากโลกนี้


เกิดจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากมนุษย์ ทำให้นกต่าง ๆ หาอาหารได้ยากขึ้น รวมทั้งการลดลงของแมลงที่กล่าวถึงไปแล้วด้านบนด้วย ในขณะที่นกอพยพต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนักด้วยความที่ต้องพึ่งพาฤดูกาลเป็นอย่างมาก



8. สัตว์ตระกูลเสือและสิงโตก็กำลังประสบชะตากรรมอย่างเดียวกัน



ทั้งเสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ เสือชีต้า และสิงโต ล้วนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั้งสิ้น โดยหลายสายพันธุ์อาจไม่หลงเหลือในธรรมชาติถึงทศวรรษหน้า เกิดจากการถูกล่าเพื่อนำชิ้นส่วนไปเป็นเครื่องประดับและหนังไปเป็นเครื่องเรือน รวมทั้งป่าต่าง ๆ ที่เล็กลงจนเกินกว่าสัตว์นักล่าจะหาอาหารได้ตามปกติ

นอกจากนี้บรรดาสัตว์นักล่าอื่นและแรดดำก็ประสบปัญหาอยู่เช่นเดียวกัน



9. สัตว์เลื้อยคลานต่างได้รับผลกระทบเช่นกัน



ด้วยเหตุจากอาหารและที่อยู่ถูกทำลายจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพราะสัตว์เลื้อยคลานจำเป็นต้องอาศัยความร้อนเย็นในการดำรงชีวิต (สัตว์เลือดเย็น) และหาอาหาร

สัตว์ตระกูลนี้จำเป็นต่อสิ่งแวดล้อมเพราะส่วนใหญ่เป็นสัตว์นักล่าตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับสูง ช่วยควบคุมปริมาณแมลงและสัตว์กินพืชเล็กใหญ่ ทั้งในป่าและแหล่งน้ำ ทำให้ระบบนิเวศมีความสมดุล



10. วัวไบซันอเมริกันมีสภาพไม่ต่างกับฝูงปศุสัตว์ จากสัตว์ที่ครองพื้นที่เกือบทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือ ถูกล่าจาก 60 ล้านตัว เหลือเพียงแค่ 500 ภายในเวลาร้อยปีเท่านั้น



พื้นที่ที่วัวไบซันอยู่อาศัยในปัจจุบันเหลือไม่ถึง 1% จากเมื่อ 300 ปีที่แล้ว โดยส่วนมากเกิดจากการล่าเพื่อความสนุกอย่างต่อเนื่องในยุคที่ชาวยุโรปย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในอเมริกา

จำนวนที่หายไปเกือบทั้งหมดแบบนี้ ก่อให้เกิดปัญหาต่อทุ่งหญ้า เขตซาวันน่า ที่ราบสูง ป่าโปร่ง และพื้นที่ลุ่มน้ำ ที่พึ่งพาอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของดินจากมูลและการเหยียบย่ำของวัวไบซัน รวมถึงสัตว์นักล่าที่มีอาหารลดลงอย่างมากด้วย

ปัจจุบันแม้มีการอนุรักษ์เพาะพันธุ์ แต่ก็ยังมีเพียงแค่หมื่นตัวเศษเท่านั้น แทบไม่ต่างอะไรกับปศุสัตว์เลย


จะเห็นได้ว่า สัตว์ต่าง ๆ ต้องพึ่งพากันเป็นอย่างมาก รวมทั้งมนุษย์เราด้วย

สัตว์เหล่านี้มีประโยชน์ในระบบนิเวศของมันเอง ซึ่งพึ่งพาอาศัยกันกับระบบนิเวศอื่น จนเกิดเป็นธรรมชาติ

ถ้าระบบหนึ่งมีปัญหาและล้มเหลว ก็จะล้มต่อกันเป็นทอด ๆ ไม่พ้นย้อนกลับมาที่มนุษย์เราผู้เริ่มทำลายแต่แรก ให้ขาดแคลนอาหาร เกิดภัยพิบัติมากและหนักขึ้น หรือสูญเสียพืชพันธุ์ที่จำเป็นไปอย่างถาวรได้



แต่มันยังไม่สายที่เราจะช่วยกันแก้ไข!

  • ลดหรือเลิกใช้พลาสติกเพื่อไม่ให้สัตว์เผลอกินเข้าไป โดยเฉพาะสัตว์ทะเลต่าง ๆ

  • ใช้พลังงานอย่างประหยัด หรือเปลี่ยนไปใช้สิ่งที่รักษ์โลกมากกว่า เพื่อสู้กับปัญหาโลกร้อนและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

  • อย่าสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าหรือของป่าที่ผิดกฎหมาย

  • ซื้อและทานอาหารที่มาจากแหล่งอาหารที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอาหารทะเล พืชพันธุ์ และอาหารจากป่า ที่ปัจจุบันมีการให้ตรารับรองด้วยแล้ว:



เราหลายคนรู้วิธีแก้ปัญหาที่จะไม่ทำลายธรรมชาติอยู่แล้ว ขาดเพียงเรายังไม่ได้เริ่มเท่านั้นเอง

มาช่วย “ปกป้องสายพันธุ์” กันคนละไม้คนละมือเถอะครับ เพราะอย่าลืมว่า…


การเปลี่ยนอะไรเพียงเล็กน้อยของเราคนหนึ่ง

-ก็สามารถ-

สร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้



bottom of page